อีกมุมมอง"ศิวรักษ์ ชุติพงษ์"
"
วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552 เวลา 14:52:12 น. มติชนออนไลน์
คำพิพากษาจำคุกศิวรักษ์ ชุติพงษ์
โดย เขียน ธีระวิทย์ ศาตราจารย์กิตติคุณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ศาลกรุงพนมเปญได้พิพากษาจำคุกคนไทย นายศิวรักษ์ ชุติพงษ์โดยให้จำคุก 7 ปี และปรับเป็นเงิน 10 ล้านเรียล (ประมาณ 85,000 บาท) ในข้อหาสอดแนมข้อมูลของทักษิณ ชินวัตร ระหว่างการเดินทางไปเยือนกัมพูชา ( 10-14 พฤศจิกายน 2552) ด้วยการส่งข้อมูลเกี่ยวกับกำหนดการของเที่ยวบินให้กับสถานทูตไทย คดีนี้มีข้อน่าสังเกตดังนี้
1. รัฐบาลกัมพูชาภายใต้การนำของสมเด็จฯ ฮุนเซนเคยต้อนรับบุคคลสำคัญระดับประมุขของประเทศหลายครั้ง รวมทั้งนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยด้วย ไม่เคยปรากฏว่ากำหนดการการบินเข้า-ออกประเทศกัมพูชาถือเป็นความลับ คงไม่มีใครเชื่อว่า ในโลกนี้มีประเทศใดที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติกล้าบัญญัติกฎหมายระบุว่า เที่ยวบินการเดินทางเข้า-ออกประเทศของบุคคลสำคัญเป็นความลับในราชการ
ถ้ากัมพูชาเป็นรัฐพิเศษเหนือมนุษย์จะออกกฎหมายพิเศษโดยระบุว่า อาชญากรแผ่นดินของรัฐศัตรูเดินทางเข้า-ออกประเทศกัมพูชาก็ดี หรือระบุกว้างๆ ว่า กรณีใดที่สมเด็จฯ ฮุนเซนบอกว่าเป็นความลับของประเทศ ให้ถือว่าเรื่องนั้นเป็นความลับของประเทศก็ดี ชื่อกัมพูชาก็คงฉาวโฉ่ทั่วโลก และอาจถูกขับออกจากสหประชาชาติ
ถ้าไม่มีกฎหมายพิเศษดังกล่าว ตามหลักสากลศาลกัมพูชาก็ไม่มีอำนาจตัดสินลงโทษผู้ต้องหาอย่างนายศิวรักษ์ ชุติพงษ์ ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตรา 11 ข้อ 2 กัมพูชาเป็นสมาชิกสหประชาชาติ จำต้องปฏิบัติตาม
2. ตามหลักสากลนั้น คำพิพากษาของศาลจะต้องระบุชัดเจนว่า ผู้ต้องหาทำผิดกฎหมายอะไร มาตราไหน แต่คำพิพากษาลงโทษจำคุกศิวรักษ์มิได้อ้างกฎหมายฉบับใดเลย มีแต่กล่าวกว้างๆ อย่างเลื่อนลอยว่า จำเลยทำผิดตามข้อหาสอดแนมข้อมูลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยการส่งข้อมูลเกี่ยวกับกำหนดการเที่ยวบินให้กับสถานทูตไทย
3. เข้าใจว่า ทนายของนายศิวรักษ์ มิได้ทำหน้าที่โดยยึดหลักวิชาชีพทนายความในระบอบประชาธิปไตย แต่ทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจรัฐในระบอบเผด็จการ มิเช่นนั้น ทนายจะต้องเค้นให้มีการระบุความผิดตามกฎหมายให้ชัดเจน อัยการและทนายจะต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง แม้ศาล (ถ้ากลัวฝ่ายการเมือง) จะมั่วๆ ไม่ระบุในคำพิพากษา บันทึกรายงานการพิจารณาคดีของศาล หรือผู้สื่อข่าวที่มีใจเป็นธรรมที่อยู่ในศาลก็สามารถรายงานให้สาธารณชนทราบ ได้
4. ตามหลักกฎหมายอาญา ผู้กระทำผิดทางอาญานั้น จะต้องมีเจตนา อันนี้ไม่มีการสืบให้แน่ชัดว่า ศาลได้สืบพยานในประเด็นนี้หรือไม่ เป็นหน้าที่ของอัยการและทนายจำเลยที่จะต้องนำสืบให้ศาลทราบว่า ศิวรักษ์ลักลอบเอาข้อมูลไปกระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของกัมพูชาอย่าง ไร
ศิวรักษ์เป็นพลเมืองไทยทำงานในหน่วยงานที่มี สิทธิที่จะรู้ตารางเวลาเครื่องบินเข้าออกกัมพูชาอยู่แล้ว สถานทูตไทยขอข้อมูลจากเขาโดยชอบ เพราะเครื่องบินลำนี้บินผ่านหรือจะบินผ่านน่านฟ้าไทย สถานทูตไทยมีหน้าที่ที่จะมีข้อมูลและรายงานให้รัฐบาลไทยทราบ
วิญญูชนคงเข้าใจได้ยากว่า ศิวรักษ์จะเอาข้อมูลเที่ยวบินของทักษิณไปทำลายความมั่นคงของกัมพูชาได้อย่างไร
5. จำเลยซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงการต่างประเทศของไทยแต่ต้น ถูกสมุนของทักษิณอาศัยความทุกข์ของจำเลยช่วงชิงบทบาทนั้นไป พวกเขาใช้กลยุทธสร้างกระแสให้ศิวรักษ์ต้องโทษ (แทนที่จะเป็นพ้นโทษ)
โดยแนะให้ทนายจำเลยแนะให้ลูกความต้องโทษ เพื่อพวกเขาจะได้มีโอกาสแสดงความปรานีหาคะแนนนิยมจากคนไทยว่า พวกเขาเก่งกว่าฝ่ายรัฐบาลไทย สามารถขอให้รัฐบาลฮุนเซนขอพระราชทานอภัยโทษได้สำเร็จ คือพวกเขาเก่งในการจะช่วยคนไทยให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ จากการกระทำของคนไทยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด
6. การเลือกทนายใหม่ จากนาย เภา สุภา ที่กระทรวงการต่างประเทศไทยหาให้เป็น นายเขียว สัมโบ และขอพึ่งพานักการเมืองพรรคเพื่อไทยเป็นเอกสิทธิของศิวรักษ์และครอบครัว เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะถูกบีบคั้นโดยกระแสการเมือง รัฐบาลไทยยังคงติดตามให้ความช่วยเหลือเท่าที่ศิวรักษ์ยังคงต้องการนั้นชอบ แล้ว
7. รัฐบาลไทยมีพันธะทางใจที่จะต้องช่วยหรือไม่ช่วยศิวรักษ์ ตามที่ศิวรักษ์ต้องการ อาจจะเสียหน้าบ้าง แต่ก็ต้องอดทนเพราะศิวรักษ์ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองของคนไทย-กัมพูชาที่สมคบ กันมุ่งทำร้ายประเทศไทย ถ้าศิวรักษ์ขอให้รัฐบาลไทยจ่ายค่าทนายและค่าปรับให้ รัฐบาลไทยก็ควรจ่ายให้เป็นกรณีพิเศษ
8. รัฐบาลไทยจะตอบโต้รัฐบาลกัมพูชาโดยหาเรื่องทำนองเดียวกันกับที่รัฐบาล กัมพูชาทำก็มีสิทธิ แต่ไม่ควรทำ เพราะจะลดตัวทำเหมือนคนป่าเถื่อน ควรเก็บเรื่องไว้เป็นเจ้าหนี้ทางการเมืองแล้วคิดบัญชีภายหลังในกรณีและเวลา ที่เหมาะสม
9. คดีนี้ รัฐบาลกัมพูชาได้ข้อมูลมากล่าวโทษศิวรักษ์โดยทางมิชอบ คือดักฟังโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย รัฐบาลไทยควรสื่อสารให้ทุกประเทศที่มีสถานทูตอยู่ในกัมพูชาทราบว่าการพูดกัน ทางโทรศัพท์ในกัมพูชานั้นไม่มีความปลอดภัย ไม่ต้องพูดถึงการปกป้องเสรีภาพส่วนบุคคลของชาวกัมพูชา องค์กรเอกชนและนักการเมืองฝ่ายค้านให้เสียเวลา
10. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของรัฐสภาไทย และองค์กรเอกชนที่ทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในไทยไม่ควรนิ่งเฉยเกี่ยวกับ เรื่องนี้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวบรวมข้อมูลทำเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีศิวรักษ์ ทำจดหมายหรือแถลงการณ์ภาษาต่างๆ ส่งถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ Amnesty International องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญๆ ทั่วโลก รวมทั้งล็อบบี้ประเทศต่างๆ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือกัมพูชาภายใต้การนำของสมเด็จฯ ฮุนเซนให้ระงับหรือลดความช่วยเหลือกัมพูชาต่อไป
ความผิดของรัฐบาลฮุนเซนที่ชัดเจนคือละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มาตรา 9 ที่ว่า “บุคคลจะถูกจับกุมคุมขัง หรือเนรเทศตามอำเภอใจไม่ได้” มาตรา 11 ข้อ 2 ที่ว่า “บุคคลจะต้องไม่ได้รับโทษใดๆ ในการกระทำหรือละเว้นการกระทำ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติระบุความผิดไว้...”
หมายเหตุ ตั้งแต่ 20 ธันวาคมเป็นต้นไปดูบทความเรื่องคดีศิวรักษ์ ชุติพงษ์ และปัญหาไทยกัมพูชาได้ใน www.thaiword.org
แก้ไข
http://www.thaiword.org น่าจะเป็น http://www.thaiworld.org/th/index.php
Comments